วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จากตูนิเซียสู่อียิปต์ : ปรากฏการณ์ "โดมิโน" ล้มทับ "เผด็จการ" โลกอาหรับ


ไม่ เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า การตัดสินใจจุดไฟเผาตัวเองของเด็กหนุ่มว่างงานชาวตูนิเซียวัย 26 ปีรายหนึ่ง ที่มีนามว่า "โมฮาเหม็ด บูอาซีซี" เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ปีที่แล้ว เพื่อเป็นการประท้วงเจ้าหน้าที่ของทางการตูนิเซียในเมืองซิดี บูซิดทางตอนกลางของประเทศ ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เขานำผัก และผลไม้มาจำหน่ายที่ข้างถนน จะกลายเป็น "เชื้อไฟ" ที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชนชาวตูนิเซียตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศในเวลาต่อมา เพื่อขับไล่รัฐบาลตูนิเซียของประธานาธิบดีจอมเผด็จการอย่างซิเน เอล​ อบิดีน เบน อาลี ที่ปกครองประเทศมานานกว่า 23 ปี นับตั้งแต่ปี 1987...

การประท้วงขับไล่รัฐบาลของพลังประชาชนในตูนิเซียซึ่งสร้างความตื่นตะลึง ไปทั่วโลกอาหรับ ทวีปแอฟริกา และประชาคมโลกครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยใช้ระยะเวลาเพียง 28 วันเท่านั้น หลังจากที่จอมเผด็จการเบน อาลี วัย 74 ปียอมสละเก้าอี้ผู้นำประเทศ และเดินทางไปลี้ภัยยังซาอุดีอาระเบีย ประเทศซึ่งเปรียบเสมือน "พี่ใหญ่แห่งโลกอาหรับ" ในวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านเข้าร่วมเพื่อช่วยกันบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว ก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้

ชัยชนะอย่างงดงามของพลังประชาชนในตูนิเซียที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของ มวลชนมากกว่า 100 ชีวิต ถือเป็น "แรงบันดาลใจชั้นดี" ให้แก่ประชาชนในหลายประเทศของโลกอาหรับ ที่ต่างประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก จากการถูกปกครองแบบกดขี่โดยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมายาวนาน


ในช่วงเวลาไล่เลี่ย กันหลังการลุกฮือของพลังมวลชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลในตูนิเซีย ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศทั้งในแถบตอนเหนือของทวีป แอฟริกา และในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นที่อียิปต์, เยเมน, แอลจีเรีย, จอร์แดน, มอริเทเนีย, ซาอุดีอาระเบีย, โอมาน, ซูดาน, ลิเบีย และโมร็อคโค โดยในจำนวนนี้มีหลายประเทศ เช่น อียิปต์, เยเมน, แอลจีเรีย และจอร์แดนเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเป็นวงกว้างขยายตัวไปทั่วประเทศ

แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ดูจะเป็นสถานการณ์การประท้วงในอียิปต์ อดีตชาติที่เคยได้ชื่อว่าเป็น "พี่เบิ้ม" แห่งโลกอาหรับ ที่กลุ่มเยาวชน "April 6 Youth Movement" เป็นแกนนำปลุกระดมประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพออกมาประท้วงตามท้องถนนเริ่ม ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ประท้วงแค่หลักร้อยในกรุงไคโรในช่วงแรก ได้ขยายเป็นพลังมวลชนจำนวนหลายหมื่นคนทั่วประเทศภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ วัน ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นใน "แดนมัมมี่" นับตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา


และแน่นอนว่าการ ประท้วงในอียิปต์ได้พุ่งเป้าของการโจมตีไปที่ตัวประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ผู้นำวัย 82 ปีโดยตรง โดยกลุ่มผู้ประท้วงที่มีจำนวนมากจนน่าตกใจต่างพากันเรียกร้องให้ผู้นำของตน ซึ่งครองอำนาจแบบผูกขาดมาตั้งแต่ปี 1981 ก้าวลงจากอำนาจ เพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ทั้งการแก้ปัญหาการว่างงาน ราคาอาหารที่พุ่งสูง การคอรัปชัน และระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การตัดสินใจของ รัฐบาลอียิปต์ภายใต้การนำของมูบารัคที่ให้มีการปราบปรามการประท้วงของ ประชาชนอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้กรุงไคโรเปลี่ยนสภาพจากเมืองหลวงกลายเป็น "สมรภูมิเลือด" ที่มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 160 คน บาดเจ็บอีกเกือบ 5,000 คน และยังมีผู้ถูกจับกุมไปอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย นอกจากนั้น มูบารัคยังสั่งการให้มีการบล็อกการใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ หวังสยบกลุ่มผู้ประท้วงให้อยู่หมัด เพื่อที่ตนเองจะได้ครองอำนาจต่อไป

อย่าง ไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ในอียิปต์ดูจะเลวร้ายลงทุกขณะ นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างพากันฟันธงลงความเห็นว่าประธานาธิบดีมูบารัค ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มีความเจนจัดที่สุดคนหนึ่งของโลกอาหรับ และมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวราวกับเป็น "จิ้งจอกเฒ่า" คงเหลือตัวเลือกไม่มากนักให้ตัดสินใจ และดูเหมือน "2 ทางเลือก" ที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้สำหรับมูบารัค คงหนีไม่พ้น การดันทุรังอยู่ในอำนาจต่อไปพร้อมกับเพิ่มระดับความรุนแรงในการปราบปรามพลัง มวลชนให้ราบคาบ หรือไม่ก็ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

การ ออกมาแถลงที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (31) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา "ต้องการเห็น" ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในอียิปต์ ถูกมองว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดของสหรัฐฯ ต่อผู้นำอียิปต์ ให้ยอมลงจากอำนาจตาม "มติมหาชน" และยังถูกวิเคราะห์ว่า ทางการสหรัฐฯ คงประเมินแล้วว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ "ผู้นำมือเปื้อนเลือด" อย่างมูบารัค ให้ช่วยทำหน้าที่เป็น "ตัวกลาง" ในการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์อีกต่อไป

แน่ นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์กำลังดำเนินมาถึง "จุดไคลแม็กซ์" และน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในไม่ช้านี้ว่าในที่สุดแล้ว มูบารัคจะอยู่หรือไป แต่คำถามใหญ่ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยในขณะนี้ คือ "โดมิโนชิ้นต่อไป" จะล้มลง ณ ดินแดนแห่งใดในโลกอาหรับเพราะดูเหมือนในเวลานี้ กระแสของการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และกระแสต่อต้านคณะผู้ปกครองที่ฉ้อฉลไร้ศักยภาพ ดูจะทวีกำลังรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกอาหรับ

จาก การวิเคราะห์ของทีมข่าวต่างประเทศไทยรัฐออนไลน์เห็นว่า ยังพอมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดปรากฏการณ์ของการล้มตามกันแบบโดมิโนของระบอบ เผด็จการในโลกอาหรับขึ้นอีกในอนาคต และดินแดนที่ดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดเห็นจะเป็น "เยเมน" ในตะวันออกกลาง และ "แอลจีเรีย" ในแอฟริกาเหนือ โดยในกรณีของเยเมนนั้น ถือเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้นที่สุด และพัฒนาน้อยที่สุดในโลกอาหรับ มีอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วถึงร้อยละ 65 ของประชากร ซ้ำร้ายยังมีเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะใกล้ล่มสลายจากการที่ "น้ำมัน" ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศกำลังจะหมดไปภายในปี 2017 อีกทั้งชาวเยเมนจำนวนมากยังไม่พอใจการบริหารประเทศภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ที่แทบไม่มีผลงานเลยนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาครองอำนาจเมื่อเดือน ต.ค. 1994

ส่วน ในแอลจีเรียนั้น กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายความมั่งคั่ง ที่ได้จากการขายน้ำมันกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะในทุกวันนี้รายได้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์จากการส่งออกน้ำมันกลับไปกระจุกตัวอยู่ในมือของผู้มีอำนาจทางการ เมืองเพียงไม่กี่รายในประเทศ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 35 ล้านคนยังคงทุกข์ยากกับภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองแร้นแค้นต่อไป

ด้าน ดร.สราวุฒิ อารีย์ รองผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ภายในประเทศอียิปต์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า กลุ่มประชาชน ชาวอียิปต์ไม่พอใจ การปกครองอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ของนายฮอสนีย์ มูบารัค วัย 82 ปี ประธานาธิบดีประเทศอียิปต์ ที่ถูกกล่าวหาว่า มีการกดขี่ข่มแหง

ทั้ง นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจาก การจลาจลที่ประเทศตูนีเซีย ซึ่งทำใ ห้เกิดการโค่นล้มอำนาจ ของประธานาธิบดีประเทศตูนีเซีย ซึ่งก็ครองอำนาจในประเทศยาวนานถึง 23 ปี ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงในช่วงข้ามคืน แล้วเหตุการณ์ในตูนิเซียจึงกลายมาเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน คือมีผู้นำที่มีอำนาจปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน​ จนทำให้เกิดปัญหาสิทธิเสรีภาพ ปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน และปัญหาข้าวยากหมากแพง เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่า หลายประเทศก็ลุกฮือขึ้นมา ตั้งแต่ประเทศจอร์แดน, เยเมน และแอลจีเรียไปจนถึงอียิปต์

ดร.สรา วุฒิ ให้ความเห็นอีกว่า อียิปต์เป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุด หลังจากตูนีเซีย เพราะอียิปต์ถือเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากที่สุดในโลกประเทศอหรับ ประมาณถึง 78-79 ล้านคน ปัญหาหลักในอียิปต์ที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาขับไล่ประธานาธิบดี ดร.สราวุฒิ ใช้คำว่า "ปัญหาขนมปัง และปัญหาสิทธิเสรีภาพ" ขณะที่ลักษณะเด่นที่สำคัญทำให้มีการลุกฮือของประชาชน ก็คือไม่มีแกนนำ ประชาชนตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการเอง ส่วนสิ่งสำคัญอีกอย่าง ก็คือระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศก็ถือเป็นโครงข่ายสำคัญ มีบทบาทสูงมากในการรวมตัวของประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาล

ทั้งนี้ ถ้ากลับไปดูการโค่นล้มอำนาจปกครองในประเทศตูนิเซีย จะเห็นว่าชนชั้นที่เป็นหัวหอกในการล้มอำนาจการปกครอง เป็นชนชั้นตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงชนชั้นสูง ซึ่งจะแตกต่างจากอียิปต์ที่เป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับล่าง อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือกองทัพ ประเทศตูนีเซีย ค่อนข้างมีอิสระในการดำเนินการ แต่ในอียิปต์ตัวประธานาธิบดี มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับกองทัพ ทำให้การโค่นล้ม นายฮอสนีย์ มูบารัค ประธานาธิบดีอียิปต์ วัย 82 ปี ของประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการชุมนุมผ่านมา 6-7 วันแล้ว ยังไม่มีสัญญาณหรือท่าทีการลงจากอำนาจออกมาจากตัวประธานาธิบดี

นอก จากนี้ การที่จะรักษาอำนาจปกครอง หรือจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของประธานาธิบดีในประเทศอียิปต์ได้หรือไม่ คำถามนี้ยอมรับว่า ตอบยาก ขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 อย่าง อย่างแรก คือท่าทีของประเทศมหาอำนาจ และประชาคมโลก ว่าจะมีท่าทีอย่างไร กับผู้นำของอียิปต์ เพราะประเทศนี้ ถือเป็นพันธ์มิตรที่สำคัญของทางสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาสหรัฐฯให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีบทบาทในการเจรจาปัญหา ปาเลสไตน์ หากประเทศมหาอำนาจกดดันประธานาธิบดีอียิปต์มาก ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจ
ส่วน อีกข้อเป็นเรื่องการรวมกลุ่มของผู้ที่ชุมนุมประท้วงว่าจะรวมกลุ่มกันหนาแน่น และมีปริมาณมากเพียงใด อย่างที่ทราบว่ารัฐบาลประเทศอียิปต์ใช้กำลังทหารจัดการกับประชาชน ถ้าประชาชนยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ก็จะเกิดการชุมนุมต่อสู้ที่ยืดเยื้อก็จะเป็นแรงกดดันประธานาธิบดีอียิปต์ให้ ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง

ปัจจัยสุดท้าย คือการตัดสินใจของฝ่ายความมั่นคงและกองทัพของประเทศ ถ้าเหตุการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อและบานปลาย บ้านเมืองเสียหาย จนทำให้กลายเป็น รัฐที่ล้มเหลว ถ้าไม่มีทางเลือกและประเทศจะไปจนถึงลักษณะนั้น ก็คิดว่า กองทัพอาจต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง ตัวประธานาธิบดีกับระบอบการปกครองประเทศ หรือจะเลือกความสงบสุขและประชาชน ซึ่งหากตัดสินใจแบบหลัง ผมคิดว่านั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

สำหรับความคิดเห็นของนัก วิชาการ และนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่ามันจะยืดเยื้อและไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร เนื่องจากจนถึงขณะนี้เอง ยังไม่พบว่ามีสัญญาณที่มีนัยสำคัญถูกส่งออกมา แต่เหตุการณ์ทั้งหมดจะต้องจบลงแน่ ไม่ทางใดทางหนึ่ง จบในลักษณะใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนอย่างหนัก หรือว่าจะจบลงลักษณะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศ แต่วิธีการอย่างหนึ่งที่ประชาคมโลกอยากที่จะเห็น ก็คือการเจรจาในการวางอนาคตประเทศร่วมกันระหว่างผู้นำกับประชาชนที่ประท้วง ว่าประเทศอียิปต์ควรเดินไปในทิศทางไหน เป็นไปได้ว่า นายฮอสนี สุดท้ายอาจต้องลงจากอำนาจทางการเมืองแน่ แต่อาจจะลงมาหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้แล้ว

ขณะที่ทางด้าน ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู กล่าวว่า ปัญหาการต่อต้านโค่นล้มอำนาจผู้นำของประเทศอียิปต์ เกิดจากความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องต่างๆ ที่หมักหมม มาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัญหานี้ยังไม่สามารถมองออกได้ว่าจะจบลง หรือเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับปฏิกริยาของผู้นำที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ขึ้นอยู่กับถ้าผู้ นำประเทศต้องลงจากอำนาจจริงๆ แล้ว กลุ่มใดจะขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองต่อ

ทั้ง นี้ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ระบุว่า สำหรับสหรัฐฯ เองก็คงมีความกังวลในปัญหาของประเทศอียิปต์ เพราะมีผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่ อาทิ กรณีคลองสุเอช ซึ่งเป็นเส้นทางส่งสินค้า น้ำมัน การทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ฉะนั้นสหรัฐฯ ก็ต้องการให้รัฐบาลของอียิปต์ที่ขึ้นมามีอำนาจใหม่ถ้ารัฐบาลชุดเก่าเกิดการ เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ให้สานต่อนโยบายเดิมที่มีอยู่ แต่การแสดงออกของสหรัฐฯ ก็ทำได้เพียงดูท่าทีและออกมาขอให้อียิปต์สงบโดยเร็ว ซึ่งก็คงไม่แตกต่างอะไรกับประเทศไทย.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น