วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข่าว ต่างประเทศ : เยอรมนีเลิกใช้พลังงานนุกปี65

31 พฤษภาคม 2554 - 00:00

เยอรมนีกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ชาติแรก ที่ประกาศแผนยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ภายหลังศึกษาบทเรียนโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะในญี่ปุ่น ที่เกิดวิกฤติสารกัมมันตรังสีเพราะภัยพิบัติ รัฐบาลผสมตั้งเป้าภายในปี 2565 ปิดโรงปฏิกรณ์เกลี้ยงทั้ง 17 แห่ง
"หลังจากหารือกันยาวนาน พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์" นอร์เบิร์ต เริตต์เกิน รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม แถลงเมื่อเช้าวันจันทร์ ภายหลังตัวแทนพรรครัฐบาลผสมกลาง-ขวาของเยอรมนี ได้ร่วมปรึกษาหารือกันนานหลายชั่วโมง ที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีของนางอังเกลา แมร์เคิล โดยเขายืนยันว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีความชัดเจน เด็ดขาด และเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย
เยอรมนีมีโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสิ้น 17 โรงทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เก่าแก่ที่สุด 8 หน่วยได้ยุติการผลิตกระแสไฟฟ้าไปแล้ว ในจำนวนนี้ 7 โรงถูกสั่งปิดชั่วคราวนาน 3 เดือน ระหว่างรอการตรวจสอบความปลอดภัย สืบเนื่องจากความหวั่นวิตกภายหลังภัยพิบัติในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม ที่สร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ส่วนโรงที่ 8 ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศนั้น มีปัญหารุมเร้าทางเทคนิคและทำให้ถูกปิดใช้งานมานานหลายปี ตามแผนนั้นรัฐบาลต้องการให้ปิดโรงไฟฟ้าทั้ง 8 โรงนี้ต่อไปอย่างถาวร
โรงไฟฟ้าอีก 6 แห่ง ถูกกำหนดให้ปิดการผลิตภายในปี 2564 ที่เหลืออีก 3 โรงซึ่งสร้างใหม่สุด จะผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปจนถึงปลายปี 2565 โดยเริตต์เกินกล่าวว่า เพื่อเป็นกันชนด้านความปลอดภัย ป้องกันการขาดแคลนพลังงาน
การตัดสินใจของรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคคริสเตียนเดโมแครตของแมร์เคิลครั้งนี้ ทำให้เยอรมนีกลายเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมชาติแรกที่ประกาศแผนล้มเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง แต่แผนนี้ยังต้องรอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านทั้งโซเชียลเดโมแครตและพรรคกรีน ต่างก็ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องวางแผนจัดหาพลังงานทางเลือกจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่เคยได้จากโรงนิวเคลียร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23 โดยความกังวลว่าอาจเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าได้ ทำให้นักการเมืองบางรายเสนอให้รัฐบาลสงวนอนุมาตราที่อนุญาตให้ทบทวนแผนนี้ได้ในอนาคต แต่เริตต์เกินยืนยันว่า ที่ประชุมเห็นพ้องว่าจะไม่มีการทบทวนใหม่แน่นอน เขารับประกันด้วยว่า เยอรมนีจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า
การตัดสินใจของรัฐบาลผสมครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปตามคำแนะนำของ "คณะกรรมการจริยธรรม" ที่แมร์เคิลแต่งตั้งมาศึกษาแผนรองรับด้านพลังงาน ภายหลังเกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการกลับลำอีกครั้งของรัฐบาลผสมชุดนี้ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและทำให้พรรครัฐบาลพ่ายการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือนมีนาคมในเขตสำคัญๆ
ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2553 นางแมร์เคิลเคยตัดสินใจยืดอายุการใช้งานโรงปฏิกรณ์ทั้ง 17 โรงออกไปเฉลี่ยราว 12 ปี หรือถึงกลางทศวรรษปี 2030 ซึ่งแผนนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แม้กระทั่งก่อนเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ถล่มญี่ปุ่น และทำให้นางต้องทบทวนนโยบายด้านพลังงาน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น